ความสำคัญ และที่มาของโครงการ
การถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากเส้นใยกล้วยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และกลยุทธ์การจัดการผลิตภัณฑ์ ในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เป็นโครงการวิจัยเพื่อถ่ายทอดกระบวนการผลิตผ้าทอจากเส้นใยกล้วยย้อมสีธรรมชาติด้วยกี่กระทบ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากผ้าทอใยกล้วยให้แก่ชุมชนภาคเหนือ รวมทั้งการกำหนดกลยุทธ์การจัดการผลิตภัณฑ์โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนเห็นคุณค่าของการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากวัสดุธรรมชาติ จากเส้นใยกล้วยที่ได้จากกาบต้นกล้วย นอกเหนือจากใช้ประโยชน์จากผลและใบกล้วย โดยเป็นการใช้ประโยชน์จากส่วนของลำต้นกล้วยซึ่งแทบจะไม่มีมูลค่ามาพัฒนาให้เป็นงานหัตถกรรม สามารถสร้างรายได้เพิ่มอีกช่องทางหนึ่ง
ปี พ.ศ. 2560 ได้รับทุนอุดหนุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย โครงการ Research for Community วิจัยเพื่อชุมชนสังคม เรื่อง การถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากเส้นใยกล้วยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และกลยุทธ์การจัดการผลิตภัณฑ์ ในจังหวัดภาคเหนือ จังหวัดลำพูน จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน จังหวัดกำแพงเพชร
ปี พ.ศ. 2564 ได้รับทุนอุดหนุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย โครงการ Research for Community วิจัยเพื่อชุมชนสังคม เรื่อง การถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากเส้นใยกล้วยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และกลยุทธ์การจัดการผลิตภัณฑ์ ในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร จังหวัดสุโขทัย
จากความสำเร็จในการดำเนินการวิจัยดังกล่าว ผู้วิจัยเห็นว่าองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากเส้นใยกล้วยย้อมสีธรรมชาตินั้น เป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่าสามารถเป็นช่องทางในการสร้างรายได้เสริมให้แก่ชุมชนได้ จึงสมควรจะได้มีการถ่ายทอดขยายไปยังชุมชนที่มีความสนใจในวงกว้างมากยิ่งขึ้นเนื่องจากเป็นองค์ความรู้ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้ต้นกล้วยซึ่งแทบจะไม่มีมูลค่ามาพัฒนาให้เป็นงานหัตถกรรมที่สวยงามสามารถสร้างรายได้เพิ่มอีกช่องทางหนึ่ง ประกอบกับในปัจจุบันผู้บริโภคนิยมผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่ผลิตจากวัสดุเส้นใยจากพืช จำนวนมากขึ้น โดยนำวัสดุเส้นใยพืชไปผ่านกระบวนการถัก ทอ หรือสานเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้งานหัตถกรรมเส้นใยพืชได้รับความนิยมสูงขึ้น และสร้างรายได้ให้ผู้ผลิตจำนวนมากในแต่ละปี นอกจากนี้ทีมวิจัยได้สำรวจผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากเส้นใยพืชที่มีจำหน่ายในปัจจุบันพบว่ามีการใช้เส้นใยพืชจากลำต้น ใบ และผลของพืชหลายชนิดมาทำเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจำหน่ายจนเป็นที่นิยมกันมาก เช่น เส้นใยจากป่านศรนารายณ์ สับปะรด เตยหนาม ปอแก้ว กก ผักตบชวา กาบกล้วย นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์กระดาษ กระเป๋า หมวก โคมไฟ และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ จึงจูงใจให้มีการศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นใยพืชอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลิตภัณฑ์ที่สวยงามมากมายสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เส้นใยจากต้นกล้วยซึ่งเป็นพืชที่ปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย
วัตถุประสงค์
1. เพื่อถ่ายทอดกระบวนการการผลิตผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากเส้นใยกล้วยย้อมสีธรรมชาติสู่กลุ่มวิสาหกิจหัตถกรรมทอผ้า
2. เพื่อถ่ายทอดการสร้างมูลค่าเพิ่มและกลยุทธ์การจัดการผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากเส้นใยกล้วยสู่กลุ่มวิสาหกิจหัตถกรรมทอผ้า
คณะทำงาน
ปี พ.ศ. 2560
- หัวหน้าโครงการ
- รองศาสตราจารย์เอนก ชิตเกษร
- รองศาสตราจารย์พรรณนุช ชัยปินชนะ
- ผู้ร่วมโครงการ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีรัตน์ สุวรรณ์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุชาดา เมฆพัฒน์
- อาจารย์ ดร. ณัชภัทร พานิช
- อาจารย์พัชรนันท์ วงศ์พนัสสัก
- นางนิตยา มหาไชยวงศ์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรีรัตน์ สุวรรณ์
ปี พ.ศ. 2564
- หัวหน้าโครงการ
- รองศาสตราจารย์เอนก ชิตเกษร
- รองศาสตราจารย์พรรณนุช ชัยปินชนะ
- รองศาสตราจารย์เอนก ชิตเกษร
- ผู้ร่วมโครงการ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพัตรา เจริญภักดี บดีรัฐ
- รองศาสตราจารย์ ดร.โชติ บดีรัฐ
กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าใยกล้วยภาคเหนือตอนบน
1) กลุ่มผ้าทอบ้านไร่ป่าคา อ.ป่าซาง จังหวัดลำพูน
2) กลุ่มผ้าทอ อ.ภูซาง จังหวัดพะเยา ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 2 กลุ่ม
2.1 กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านทุ่งกล้วย หมู่ที่ 5 ต. ทุ่งกล้วย อ. ภูซาง จังหวัดพะเยา
2.2 กลุ่มทอผ้าไทลื้อ บ้านธาตุ อ. ภูซาง จังหวัดพะเยา
3) กลุ่มผ้าทอ จังหวัดแพร่ ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 3 กลุ่ม
3.1 กลุ่มทอผ้าไทลื้อ บ้านโฮ่ง จังหวัดแพร่
3.2 กลุ่มทอผ้าย้อมคราม บ้านโฮ่ง จังหวัดแพร่
3.3 กลุ่มทอผ้าไหม บ้านโฮ่ง จังหวัดแพร่
4) กลุ่มผ้าทอ จังหวัดน่าน ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 2 กลุ่ม
4.1 กลุ่มทอผ้าลายน้ำไหลไทลื้อ บ้านหล่ายทุ่ง ต.ปอน อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน
4.2 กลุ่มแพวผ้าฝ้าย อำเภอปัว จังหวัดน่าน
5) กลุ่มผ้าทอ จังหวัดกำแพงเพชร ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 4 กลุ่ม
5.1 กลุ่มทอผ้าบ้านลานกระดี่ ต.หนองทอง อ.ไทรงาม จ. กำแพงเพชร
5.2 กลุ่มสตรีทอผ้าพื้นเมืองย้อมสีธรรมชาติ หมู่ 19 ต.คลองน้ำไหล อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร
5.3 กลุ่มทอผ้าหนองจอก หมู่ 9 ต.คลองน้ำไหล อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร
5.4 กลุ่มเยาวชน หมู่ 19 ต.คลองน้ำไหล อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร
กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าใยกล้วยภาคเหนือตอนล่าง
1. กลุ่มผ้าทอจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 3 กลุ่ม
1.1 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านม่วงหอม หมู่ที่ 5 บ้านม่วงหอม ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
1.2 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนวันทาผ้าขิตหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านคลองเตย หมู่ที่ 6 ตำบลบึงกอก อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
1.3 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปเกษตรอินทรีย์บางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก (เป็นแหล่งปลูกกล้วย และทางกลุ่มวิสาหกิจขอเข้าร่วมโครงการวิจัยเพื่อเป็นแหล่งผลิตเส้นใยกล้วย ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอ)
2. กลุ่มผ้าทอจังหวัดพิจิตร จำนวน 2 กลุ่ม
2.1 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านห้วยแก้ว 199 หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร
2.2 วิสาหกิจชุมชนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไทดำและหัตถประดิษฐ์ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร
3. กลุ่มผ้าทอจังหวัดสุโขทัย จำนวน 1 กลุ่ม
3.1 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านย้อมดิน บ้านวังหาด อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย
กระบวนการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยี
กระบวนการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการดำเนินการวิจัยแบ่ง เป็น 7 กิจกรรมหลัก สรุปได้ดังนี้
1. การถ่ายทอดการเตรียมเส้นใยกล้วย
1.1 หลักการเลือกกาบกล้วยเพื่อให้ได้เส้นใยกล้วยที่มีคุณภาพ
1.2 วิธีการและเทคนิคการขูดเยื่อขาวด้านในโดยให้เหลือเฉพาะผิวหน้าที่มีสีเขียวอ่อน
1.3 เทคนิคและวิธีการฉีกเส้นใยกล้วย
2. การถ่ายทอดความรู้การย้อมสีธรรมชาติและการย้อมสีธรรมชาติเส้นฝ้ายและเส้นใยกล้วย
2.1 วิธีการทำความสะอาดเส้นใยกล้วยเพื่อเตรียมย้อมสี
2.2 วิธีการเตรียมวัสดุย้อมสีธรรมชาติ เช่น แก่นขนุน ใบมะม่วง เปลือกประดู่ และ ดอกกระเจี๊ยบ
2.3 วิธีการย้อมร้อนเส้นใยกล้วยด้วยวัสดุย้อมสีธรรมชาติ และการย้อมเย็น ด้วยสารส้ม สนิมเหล็ก โคลน น้ำขี้เถ้า และน้ำปูนใส
3. การถ่ายทอดการทอผ้าใยกล้วยด้วยกี่กระทบ
3.1 การเตรียมเส้นยืนกี่กระทบด้วยเส้นฝ้าย
3.2 การสร้างลวดลาย และการเก็บตะกอ
3.3 วิธีการมัดเพื่อสร้างเบื้องต้น
4. การพัฒนาออกแบบลวดลายผ้าทอใยกล้วย คณะวิจัยร่วมชุมชนพัฒนาออกแบบลวดลายผ้าทอใยกล้วย โดยนำภูมิปัญญาด้านลวดลายของแต่พื้นที่มาปรยุกต์กับการทอผ้าใยกล้วย
5. การวางแผนออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าทอใยกล้วย
6. การดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากผ้าทอใยกล้วย
7. การทดสอบการยอมรับผลิตภัณฑ์จากผ้าใยกล้วยย้อมสีธรรมชาติ จากกลุ่มผู้ผลิต และประชาชนทั่วไปและการกำหนดกลยุทธ์การจัดการผลิตภัณฑ์โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
การประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของการดำเนินกิจกรรมจัดการความรู้การวิจัย
ภายใต้โครงการ “Research for Community วิจัยเพื่อชุมชนสังคม”
และนำมาขยายผลการใช้ประโยชน์ในครั้งนี้
คณะผู้วิจัย ได้ศึกษา มิติด้านผลกระทบครอบคลุม 4 ด้าน ผลกระทบต่อประชาชน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อสังคม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รายละเอียดแสดงได้ดังต่อไปนี้
1. ผลกระทบต่อประชาชน ผลจากการดำเนินงานในการศึกษาผลกระทบ พบว่า ชุมชนได้รับการพัฒนาและการส่งเสริมอาชีพมากขึ้น สามารถผลิตผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกล้วยที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนมีศูนย์เรียนรู้และได้รับส่งเสริมให้มีปราชญ์ชาวบ้านเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน ชุมชนพื้นที่เป้าหมายให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
2. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ผลจากการดำเนินงานในการศึกษาผลกระทบ พบว่า ชุมชนและกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อว่างเว้นจากฤดูกาลทำการเกษตรตามปกติ และผู้สูงอายุ มีกิจกรรมที่ร่วมกันทำ และมีรายได้รายวัน เพิ่มมากขึ้น และนอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลต่อการนำวัสดุเหลือใช้ จากต้นกล้วยที่ตัดผลผลิตเรียบร้อยแล้ว มาก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก นำไปสู่เศรษฐกิจชุมชนที่ดีขึ้น ชุมชนมีโอกาสได้รับการคัดเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ ส่งเสริมรายได้และเศรษฐกิจในชุมชนให้มีมากขึ้น สร้างรายได้และโอกาสทางการตลาดและช่องทางในการจัดจำหน่ายของงานหัตถกรรม เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั้งในและนอกชุมชน
3. ผลกระทบต่อสังคม ผลจากการดำเนินงานในการศึกษาผลกระทบ พบว่า ชุมชนสามารถนำวัสดุหรือวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และชุมชนมีความสัมพันธ์กับครอบครัวที่ดีขึ้น และมีเวลาในการพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันกับครอบครัว และเพื่อนบ้านมากขึ้น เยาวชนที่อยู่ในพื้นที่และมีความสนใจจะลดการออกไปหางานทำต่างถิ่นเนื่องจากมีรายได้ดีขึ้น และชุมชนไม่มีโรคที่เกิดจากการใช้สารเคมีเนื่องจากใช้สีย้อมจากธรรมชาติ
4. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลจากการดำเนินงานในการศึกษาผลกระทบ พบว่า มีการตัดต้นกล้วยทิ้งเมื่อผลผลิตออกแล้ว ทำให้ไม่เกิดมูลค่า แต่โครงการนี้จะช่วยให้ขยะจากวัสดุเหลือลดลง และยังก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สารเคมีที่ใช้ในการย้อมก็จะลดลง จะไม่มีสารเคมีปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมเนื่องจากนำวัสดุจากที่ได้จากสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้ง่าย
ออกแบบโลโก้ ทีมวิจัยร่วมชุมชนเลือกโลโก้เพื่อสร้างแบรนด์ร่วมกัน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถขยายขอบเขตตลาดให้กว้างขึ้น และเพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายได้อีกช่องทางหนึ่ง
ความหมายของโลโก้“BanaCott” อ่านว่า บาน่าคอทท์
“Bana” มาจากคำว่า Banana
“Cott” มาจากคำว่า Cotton
พื้นสีเขียวอ่อน สื่อถึง ต้นกล้วย
พื้นสีเหลือง สื่อถึง เส้นฝ้าย
“Natural Product by Banana Fiber” เป็นการสื่อสารถึงผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ผลิตจากวัตถุดิบจากเส้นใยกล้วยและเป็นผลิตภัณฑ์ย้อมสีธรรมชาติ